เราใช้คุกกี้เพื่อทำให้ประสบการณ์ของคุณดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ของ e-Privacy เราจำเป็นต้องขอความยินยอมจากคุณในการตั้งค่าคุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติม
อะไรคือ Holy Trinity?
ความหมายของ Holy Trinity
พูดกันตามตรงแนวความคิดเรื่อง Holy Trinity หรือ Big Three นั้นเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว ไม่มีนิยามที่ชัดเจน ไม่ทราบแม้กระทั่งชื่อของผู้นิยามแนวคิดนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อไหร่ และหลายคนอาจไม่เคยได้ยินด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดีหากให้พูดถึงความหมายที่คนส่วนใหญ่เรียกจนติดปากมานาน ความหมายของ Holy Trinity คือ 3 แบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาสุดหรูที่ยอดเยี่ยมที่สุดจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และต้องแบรนด์สวิตฯ เท่านั้น ที่เป็น “haute de gamme” หรือ “ที่สุดของที่สุด” ประกอบไปด้วย Patek Philippe, Vacheron Constantin, และ Audemars Piguet
ทำไม 3 แบรนด์นี้ถึงเป็น Holy Trinity?
อาจเป็นเพราะทั้งสามแบรนด์นี้อยู่มานานแล้ว (อายุมากกว่า 100 ปีทั้งนั้น) ซึ่งไม่ต้องบอกก็รู้ว่าประสบการณ์ของพวกเขานั้นมีมากขนาดไหน และไม่เพียงแค่อยู่มานานจนเป็นแบรนด์ระดับตำนาน แต่ยังคงผลิตผลงานอยู่จนทุกวันนี้ ที่ออกมาดีขึ้นและน่าทึ่งด้วยเทคนิคใหม่ๆ ที่น่าหลงใหล
หรืออาจเป็นเพราะทั้งสามแบรนด์มุ่งทำแต่ผลิตภัณฑ์สุดหรูในระดับ haute de gamme เท่านั้น คือยึดมั่นในมาตรฐานที่เหนือชั้นในการผลิตนาฬิกาข้อมือ ชิ้นส่วนทุกชิ้นตั้งแต่เคสจนไปถึงเข็มและปุ่มต่างทำมากจากวัสดุพรีเมี่ยมเท่านั้น มีการ Finish งานที่ประณีต เช่น มีการขัดเงาเหล็กให้เป็นสีดำ สลัก Anglange และ Geneva Stripe ด้วยมือ เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดทั้งสามแบรนด์ทำการ Finish ตัว Movement ด้วยมือซึ่งเป็นงานศิลปะชั้นสูงที่ต้องการความประณีตอย่างมาก และจุดนี้เองที่ทำให้ทั้งสามแบรนด์สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและกำหนดราคาได้ตามที่ต้องการ
แท้จริงแล้วไม่มีใครเป็นผู้กำหนดเกณฑ์อย่างชัดเจนว่าต้องทำอย่างไรถึงจะได้เป็น Holy Trinity ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลไหนก็ตามที่ทำให้ทั้งสามแบรนด์เป็น Big Three ปฏิเสธไม่ได้เลยที่คุณภาพนาฬิกาของ Patek Philippe, Vacheron Constantin, และ Audemars Piguet ทั้งในอดีตและปัจจุบันนี้ยังคงได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็น “ที่สุดของที่สุด” และมีน้อยแบรนด์นักจะสามารถรังสรรค์งานผลิตให้ออกมาเทียบเท่ากับระดับ Holy Trinity ได้
อ้าว! แล้ว Rolex ไม่ได้เป็น Holy Trinity หรือ?
ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแบรนด์อื่นเทียบ Holy Trinity ได้เลย เพราะเมื่อเราใช้เกณฑ์ 2 ข้อคือการที่แบรนด์อยู่มานานและทำผลิตภัณฑ์ในระดับ High-End โดยเฉพาะการทำ Movement ด้วยมืออย่างประณีต มาเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้อยู่ในกลุ่ม Holy Trinity ก็จะเห็นได้ชัดว่ายังมีอีกหลายแบรนด์ที่ได้ก่อตั้งมานานเกินร้อยปีและผลิตนาฬิกาด้วยฝีมืออย่างชำนาญ อย่างเช่น Jaeger-LeCoultre ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์หมือนกัน มีอายุหลายร้อยปี ทำ Movement ด้วยตัวเอง มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถสร้าง Movement ได้อย่างสลับซับซ้อน แถมยังเป็นที่ยอมรับว่าเป็นแบรนด์ที่คุ้มค่าอีกด้วยจนได้รับการสมญานามว่าเป็น THE WATCHMAKER OF WATCHMAKERS
ที่น่าแปลกใจคือแม้แต่เหล่า Holy Trinity ก็ไม่ได้ทำ Movement เองทุกครั้ง! แต่ Jaeger-LeCoultre ต่างหากที่เป็นผู้ผลิต Movement ให้กับ Holy Trinity เช่น Legendary Caliber 920 ที่พบใน Patek Phillipe Nautilus ปี 1974 และ The Audemars Piguet Royal Oak ปี 1972 น่าเสียดายทั้งๆ ที่ Jaeger-LeCoultre สามารถทำ Movement ได้ดีและตัวแบรนด์อยู่มานานเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ถูกจัดให้เป็น 1 ใน Big Three อาจเป็นเพราะตนเป็นเพียงผู้ช่วยผลิตเท่านั้น และการ Finish ยังไม่เนี้ยบเท่าสามแบรนด์ แต่นี่ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าเกณฑ์ตัดสินการเป็นส่วนหนึ่งของ Holy Trinity นั้นไม่ชัดเจน
ส่วน Rolex แบรนด์ขวัญใจคนไทยนั้นถูกมองว่าเป็นแบรนด์ที่ทำนาฬิกาข้อมือได้คงทน ราคาแพง และพรีเมี่ยมซึ่งพบได้ในภาพยนตร์บ่อยครั้งจนทำให้เมื่อเรานึกถึงนาฬิกาหรู เราจะนึกถึง Rolex แต่ว่า Rolex นั้นไม่ตั้งใจที่จะเป็นแบรนด์ haute de gamme มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พวกเขาตั้งใจทำสินค้าคุณภาพสูงที่เน้นไปในด้านความอึด คงทน และการใช้งานเป็นหลัก ไม่ได้มีการผลิตแบบ Grand Complication หรือมีการ Finish ขึ้นสูง จึงเป็นงานคนละสายกับ Holy Trinity ทำให้ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า Rolex จะมีคุณภาพด้อยไปกว่าแบรนด์ที่ทำการ Finish แบบ haute de gamme คุณภาพของ Rolex ณ ปัจจุบันนี้ เป็นที่ยอมรับนับถือทั่วโลกอยู่แล้ว ซึ่งชื่อเสียงนี้มาจากคุณภาพของนาฬิกาจริงๆ ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงจากการโฆษณาเท่านั้น
“ที่สุดของที่สุด” ตัดสินจากอะไร?
ไม่มีใครทราบแท้จริงถึงที่มาที่ไปของนิยาม “Holy Trinity” หรือ “Big Three” คอนเซ็ปต์นี้ไม่ได้การันตีว่าทั้งสามแบรนด์สวิตฯ Patek Philippe, Vacheron Constantin, และ Audemars Piguet จะเป็นแบรนด์ผลิตนาฬิกาที่ดีที่สุดในโลก ความจริงแล้วเมื่อนึกถึงแบรนด์เหล่านี้ เราจะมองว่าพวกเขาเป็นแบรนด์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระดับ High-End ที่นั่งบัลลังก์บนจุดสูงสุดเสียมากกว่า
ยังคงมีอีกหลายแบรนด์คุณภาพที่ไม่ได้มาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่คุณภาพนั้นสามารถไปถึงระดับ haute de gamme ได้เลย เช่น A. LANGE & SÖHNE สุดยอดแบรนด์นาฬิกาจากประเทศเยอรมันที่คู่ควรที่จะได้อยู่ใน Big Three และเปลี่ยนชื่อเป็น “Big Four” อย่างมาก หรือแม้แต่ Credor จาก Seiko ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Japanese Perfection อย่างไรก็ตามทั้งสองแบรนด์ก็ยังไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Holy Trinity ไม่ใช่เพราะว่าไม่ได้อยู่มานาน ไม่ใช่เพราะว่าคุณภาพสินค้าของพวกเขาไม่ถึงระดับ haute de gamme แต่เป็นเพียงเพราะทั้งสองแบรนด์นี้มาจากประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่นแทนที่จะเป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์
คำว่า “Holy Trinity,” “Haute De Gamme,” หรือ “In-house” อาจฟังแล้วดูหรูหรา ทำให้นาฬิกาเรือนนั้นดูมีความหมายและมีคุณค่าก็จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว “คุณภาพ” ของ Final Product นั้นสำคัญที่สุด หากงานประกอบนาฬิกาเรือนนั้นออกมาดี ต่อให้ไม่มีคำอะไรไปแปะหัวมัน คุณภาพงานจะเล่าเรื่องให้มันเอง ไม่ว่าแบรนด์ไหนก็ตาม หากตั้งใจผลิตด้วยหัวใจและจิตวิญญาณก็สามารถเป็น Holy Trinity ได้ แล้วคุณละ Holy Trinity ในแบบของคุณเป็นอย่างไร?
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Rolex มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Patek Philippe มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Audemars Piguet (AP) มือสอง ได้ที่นี่
Auction House เว็บไซต์ ซื้อ - ขาย นาฬิกามือสอง ของแท้ ตรวจสอบราคา Rolex, Patek philippe, Audemars Piguet (AP), Omega, Panerai, IWC, Hublot, Cartier, Franck muller ได้ที่นี่