เราใช้คุกกี้เพื่อทำให้ประสบการณ์ของคุณดีขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งใหม่ของ e-Privacy เราจำเป็นต้องขอความยินยอมจากคุณในการตั้งค่าคุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติม
8 เหตุผลที่ทำให้นาฬิการาคาแพง
8 เหตุผลที่ทำให้นาฬิกามีราคาสูง
ดูวิดีทำไมนาฬิกาถึงมีราคาแพง
อย่าลืมกด ติดตาม เพื่อรับชมวิดีโอที่น่าสนใจก่อนใคร
ทำไมนาฬิกาข้อมือบางเรือน ถึงแพงกว่ารถสปอร์ตสุดหรูบางคันเสียอีก
ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว ประโยชน์การใช้งานหลักของนาฬิกาก็คือ มีไว้สำหรับดูเวลาเท่านั้น แต่ถ้าลองเปรียบเทียบเล่นๆ กับรถสปอร์ตคันหรูสุดโฉบเฉี่ยว ถึงจะจ่ายแพง แต่ก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบุกสมบัน พาคุณเดินทางไปไหนต่อไหนได้ตามความพอใจ แถมยังมีนาฬิกาบอกเวลา มีเพลงเพราะๆ ให้ฟังอีกด้วย ทั้งหมดนี้คงไม่ใช่แค่เรื่องขนาดและฟังก์ชั่นแล้วล่ะ แต่ก็คงมีเหตุผลสำคัญหลายประการที่ทำให้นาฬิกามีราคาสูง เรามาดูกันว่า 8 เหตุผลที่ทำให้นาฬิกามีมูลค่านั้นมีอะไรบ้าง
Story - สร้างมูลค่า Paul Newman Daytona
บ่อยครั้งที่อารมณ์มักอยู่เหนือเหตุผล เช่นเดียวกัน นาฬิกาไม่จำเป็นต้องฝังเพชร หรือเน้นเรื่องวัสดุที่ล้ำค่าเสมอไป บางเรือนนั้นเกิดได้ก็เพราะมีสตอรี่หรือเรื่องราวที่น่าสนใจ เป็นความรู้สึกประทับใจแบบประเมินค่าไม่ได้ ตัวอย่างของมูลค่าสูง เพราะสตอรี่ที่เห็นกันชัดๆ ต้องยกให้เรือนนี้ Rolex Daytona - Paul Newman รุ่นนี้เกิดมาดังเปรี้ยงปร้างเมื่อ “โจแอนน์ วูดเวิร์ด” นักแสดงและภรรยาของ “พอล นิวแมน” นักแข่งรถชื่อดัง เธอได้มอบนาฬิกาเรือนนี้เป็นของขวัญให้กับพอลในปี 1968 และสลักข้อความไว้ที่ฝาหลังว่า “Drive Carefully, Me” พอล นิวแมน ผู้หลงใหลในการแข่งรถ เขาได้ใส่นาฬิกาเรือนนี้ตลอดการแข่งขันในช่วงปี 1969 - 1984 จึงทำให้นาฬิการุ่นนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ต่อมานาฬิกาของพอลเรือนนี้ได้ถูกประมูล เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2017 ด้วยมูลค่าประมาณ 575 ล้านบาท ติดอันดับ 1 ใน 10 นาฬิกาที่แพงที่สุดในโลก เพราะสตอรี่ที่มาของนาฬิกาโดยแท้จริง
Material - ที่ดีฝีมือต้องถึง
แม้ว่านาฬิกาหลายรุ่นจะแพงด้วยสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ยังไงก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า วัสดุที่มีความพรีเมี่ยม ราคาสูง หรือหายาก รวมถึงคุณภาพที่แข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ ย่อมมีส่วนสำคัญต่อราคาเช่นกัน วัสดุที่ว่านั้นก็ได้แก่ เพชร แพลตินั่ม ไทเทเนียม ทองคำ รวมถึงหน้าปัดนาฬิกาที่เป็นเซรามิก เป็นต้น วัสดุเหล่านี้บางอย่างก็ไม่ได้แพงเพราะตัวมันเอง แต่แพงเพราะต้องใช้ความประณีตและความเชี่ยวชาญในการทำงาน ซึ่งถือว่ายากกว่าวัสดุอื่นๆ จึงต้องอาศัยฝีมือและประสบการณ์ขั้นสูง จึงทำให้นาฬิกาที่อยู่ในระดับงานฝีมือ ผลิตได้จำนวนน้อย มีราคาสูงกว่างานระดับแมสที่สั่งทำจากโรงงานผลิตจำนวนมากอย่างแน่นอน
Finishing - ระดับเทพ
หากพูดถึงสุดยอดนาฬิกาหรูใน swiss นี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็น “Haute De Gamme” หรือ “ที่สุดของที่สุด” มีเพียง 3 แบรนด์ใหญ่เท่านั้น ซึ่งเรียกกันว่า Holy Trinity อันได้แก่ Patek Philippe, Vacheron Constantin และ Audemars Piguet
หากมองภาพที่ใหญ่ขึ้นและไม่ยึดติดแบรนด์ขนาดใหญ่ เราก็จะเห็นว่ามีแบรนด์อื่นที่ Finishing ไม่แพ้กัน เช่น F.P. Journe, Philippe Dufour หรือ A. Lange & Söhne แบรนด์ระดับนี้นอกจากจะขึ้นชื่อในเรื่องการเลือกสรรวัสดุที่สุดจะพรีเมี่ยมทุกชิ้นส่วนแล้ว ยังมีความพิเศษขั้นสุดในเรื่องของ Finishing หรือการเก็บรายละเอียดงานให้สมบูรณ์แบบด้วยฝีมือคน ตั้งแต่องค์ประกอบภายนอก ไปจนถึง Movement หรือกลไกสุดพิเศษต่างๆ ที่บรรจุอยู่ภายใน แบรนด์ชั้นนำที่จะทำแบบนี้ได้ต้องอาศัยช่างนาฬิกาที่มีฝีมือขั้นเทพ ยิ่งเทพก็ยิ่งเพิ่ม Value และราคาที่สูงลิบลิ่ว แต่นั่นก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดเงินในกระเป๋าของนักสะสมที่หลงใหลในศิลปะชั้นสูงในเรือนนาฬิกาอยู่ดี
Movement - ที่สุดจะซับซ้อน
Movement หรือกลไกการทำงานของนาฬิกาแพงๆ ที่ใช้กันทั่วโลกนั้น ขั้นตอนการผลิต Movement ไม่ง่ายเลย ต้องใช้ต้นทุนในการคิดค้นและพัฒนาที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว ทั้งทางเทคนิค เวลา และบุคลากร กว่าจะทดสอบคุณภาพจนจบกระบวนการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากลไกนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนาฬิกาที่ใช้ In-House ถึงแพงกว่านาฬิกาทั่วไป
แล้วยิ่งเป็นสุดยอด Movement ที่แสนจะซับซ้อน อย่าง Grand Complication หรือ Perpetual Calendar แล้วล่ะก็ไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคา เพราะเปรียบเสมือนการยกเอากลไกต่างๆ ที่เทียบเท่ากับระบบการทำงานทั้งหมดของหอนาฬิกาขนาดใหญ่ มาย่อส่วนแล้วบรรจงใส่ไว้ในเคสนาฬิกา เพื่อให้คนได้สวมใส่บนข้อมือ คิดดูสิว่ามันจะยุ่งยากซับซ้อนระดับไหน Movement ระดับนี้แน่นอนว่ามาพร้อมราคาที่สูงลิบลิ่วเช่นกัน
Heritage - ตำนานแห่งความยิ่งใหญ่
สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าสตอรี่ คือประสบการณ์ความเก๋าที่สั่งสมกันมายาวนานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ตั้งแต่รุ่นบุกเบิก และสืบทอดความรู้ความชำนาญเป็นมรดกแห่งกาลเวลาส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ยกตัวอย่างแบรนด์เก่าแก่อย่าง Vacheron Constantin ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1755 (264 ปี) หรือแบรนด์ Jaeger-LeCoultre ซึ่งก่อตั้งในปี 1833 (186 ปี) และแบรนด์ฮิตอย่าง Patek Philippe ที่ก่อตั้งในปี 1839 (180 ปี) แต่ละแบรนด์ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการคิดค้นและพัฒนาที่มีทั้งล้มเหลวและประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้ จนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีนาฬิการาคาสูงที่สุดในโลก ประสบการณ์และเรื่องราวความเป็นมาเหล่านี้ย่อมเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดา นี่คือที่มาของความแพงที่หลายคนยอมจ่ายให้นั่นเอง
Limited Edition - ของดีมีน้อย
ของดีย่อมมีน้อย อะไรก็ตามที่หายาก ไม่ค่อยมีใครทำ มันก็ต้องราคาสูงเป็นธรรมดา แล้วถ้าแปะลาเบลเข้าไปอีกว่า “Limited Edition” ก็จะยิ่งดูพิเศษและแพงขึ้นมาทันที นาฬิการุ่นพิเศษเหล่านี้จะถูกจำกัดจำนวนการผลิตให้มีเพียงไม่มีกี่เรือนในโลก ส่วนใหญ่มักผลิตในโอกาสสำคัญ อย่างการครบรอบการก่อตั้ง หรือการระลึกถึงบุคคลสำคัญต่างๆ หรืออาจรวมไปถึงนาฬิกาหลายๆ รุ่นที่เลิกผลิตไปแล้ว กลายเป็นรุ่นในตำนานและมีความวินเทจที่ทำให้หลายคนหลงใหล
ยกตัวอย่าง A. Lange & Söhne Tourbillon “Pour le Mérite” ถูกปิดด้วยการประมูลที่ 12 ล้านบาท ต่อให้เป็นมือสองก็ยังสวยเป็นอมตะ และหลายคนก็พร้อมจะทุ่มทุนซื้อมา"
Demand & Supply - ยิ่งยากยิ่งอยากได้
ใครบอกว่าเงินซื้อได้ทุกอย่าง ไม่จริงแน่ๆ แม้แต่นาฬิกาแพงๆ รุ่นดังๆ ก็ใช่ว่ามีเงินแล้วจะซื้อได้ ยิ่งถ้าเป็นตัวท็อปอย่าง Patek Nautilus, Audemars Pigeut Royal Oak หรือ Rolex รุ่นสุดฮิตเป็นที่ปรารถนาของนักสะสม ซึ่งได้รับความนิยมตลอดกาล นาฬิกาก็จะขาดตลาดตลอดเวลาเช่นกัน เนื่องจากแต่ละปีสามารถผลิตได้ในจำนวนจำกัด ทั้งด้วยระบบกลไกที่สลับซับซ้อนและความพิถีพิถันในการ Finishing หรืออาจจะเป็นกลยุทธ์ของแบรนด์ก็ไม่อาจคาดเดาได้ ที่ทำให้คนต้องต่อคิวรอซื้อกันเป็นปีๆ และเมื่อ Supply มีน้อยกว่า Demand แบบนี้ จะแพงแค่ไหนใครก็อยากจะยื้อแย่งมาครอบครอง ซึ่งก็ส่งผลให้แม้แต่ราคาสินค้ามือ 2 ยังแพงกว่าราคาหน้าร้านเสียอีก ถ้าไม่อยากรอนานก็ต้องยอมจ่ายตามระเบียบ
Investment - ซื้อเวลามาลงทุน
ในบรรดาของสะสมที่หลายคนชื่นชอบและมีมูลค่าสูง นาฬิกาแบรนด์แท้รุ่นดัง ก็ถือเป็นหนึ่งในของสะสมเพื่อการลงทุนอย่างหนึ่ง และยังเป็นตลาดการลงทุนที่ท้าทายอย่างยิ่งของเหล่านักสะสม เรือนนาฬิกาที่ทุกคนจับจ้องอยากเป็นเจ้าของ สามารถสร้างกำไรได้เช่นเดียวกับการลงทุนในตลาดหุ้น ทองคำ หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ โดยมีข้อแม้ที่เหมือนกันคือ “การลงทุนมีความเสี่ยงผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” เพราะทุกอย่างต้องมาจากพื้นฐานการเรียนรู้ ต้องรู้ลึกรู้จริง มองขาดและตัดสินใจอย่างมืออาชีพ ในขณะที่ตลาดนาฬิกามือสองกำลังเฟื่องฟูอย่างมาก ก็ยิ่งดันให้ราคานาฬิกาเรือนดังๆ แพงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงมุมมองส่วนหนึ่งเกี่ยวกับนาฬิกาและราคา แต่ละคนก็อาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป ฝั่งของคนที่ชื่นชอบและเป็นแฟนพันธุ์แท้นาฬิกา อาจไม่ได้มองว่านาฬิกาบางรุ่นมี “ราคาแพง” หรือราคาสูงไปจนเกินเหตุ แต่อาจจะให้ราคากับ “มูลค่า” หรือ “คุณค่า” ที่ได้รับมากกว่า เพราะ “ราคา” นั้นจะถูกหรือแพงเป็นสิ่งที่ตลาดกำหนดเอาไว้ แต่สินค้าที่ได้ “ราคาสูง” นั่นเป็นเพราะมีคนต้องการของสิ่งนั้นและยินดีที่จะซื้อในราคาดังกล่าว เรื่องแบบนี้อยู่ที่ใครจะมองแบบไหน แล้วคุณล่ะคิดยังไงบ้าง?
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Rolex มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Patek Philippe มือสอง ได้ที่นี่
ตรวจสอบ ราคานาฬิกา Audemars Piguet (AP) มือสอง ได้ที่นี่
Auction House เว็บไซต์ ซื้อ - ขาย นาฬิกามือสอง ของแท้ ตรวจสอบราคา Rolex, Patek philippe, Audemars Piguet (AP), Omega, Panerai, IWC, Hublot, Cartier, Franck muller ได้ที่นี่RELATED POSTS
Our recent work